ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านเชียงราย) เทศบาลนครลำปาง

7-52100-003-085


ชื่อพื้นเมือง กัลปพฤกษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia bakeriana Craib
ชื่อวงศ์ FABACEAE - LEGUMINOSAE
ชื่อสามัญ
ลักษณะเด่นของพืช เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ความสูงประมาณ 10-15 เมตร เปลือกนอกสีเทาลำต้นมีรอยเป็นเส้นเล็กน้อย
บริเวณที่พบ สวนพรรณไม้และติดกำแพงด้านหน้าโรงเรียน
ประโยชน์


ประโยชน์ : เนื้อไม้มีความละเอียดและให้น้ำฝาด ที่สามารถนำไปใช้ฟอกหนังได้

ลักษณะ :  จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ประมาณ 5-15 เมตร มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 12 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง แต่ไม่หนาแน่นทึบ แตกกิ่งต่ำและทอดกิ่งยาวขึ้นสู่ด้านบน เปลือกต้นด้านนอกเรียบเป็นสีเทา ส่วนเนื้อไม้เป็นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล บริเวณยอดและกิ่งอ่อนมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมหนาแน่น นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการนำเมล็ดมาเพาะเป็นต้นกล้า ขึ้นได้ในดินทั่วไป สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่ดินไม่ค่อยสมบูรณ์ ชอบความชื้นปานกลาง แสงแดดแบบเต็มวัน พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ในประเทศไทยพบขึ้นได้ตามป่าแดง ป่าโคก ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป (บางครั้งพบอยู่บนเทือกเขาหินปูนที่แห้งแล้ง) ที่ระดับความสูงประมาณ 300-1,000 เมตร

ใบกัลปพฤกษ์  ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ เป็นช่อยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร ก้านช่อใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 5-8 คู่ เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ปลายใบกลม บางครั้งมีติ่งสั้น ๆ อยู่ตรงปลายสุด โคนใบบนและเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร แผ่นใบบาง เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-9 เส้น เนื้อใบมีขนละเอียดนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน โดยบริเวณด้านท้องใบจะมีขนขึ้นหนาแน่นมากกว่าด้านหลังใบ

ดอกกัลปพฤกษ์  ออกดอกเป็นช่อกระจะตามกิ่งพร้อมกับแตกใบอ่อน ช่อดอกไม่แตกแขนง ยาวได้ประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีขนสีเหลืองขึ้นปกคลุม ช่อดอกจะออกแน่นเป็นกลุ่มตลอดกิ่ง ก้านดอกยาวได้ประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับที่มีลักษณะเป็นรูปใบหอกชัดเจน มีขนาดกว้างประมาณ 7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร เมื่อเริ่มบานดอกจะเป็นสีชมพู แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ จนถึงสีขาวเมื่อใกล้ร่วงโรย กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายกลีบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร มีขนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบเช่นกัน มีลักษณะเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายมน โคนเรียวแคบ มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5.5 เซนติเมตร ที่โคนกลีบดอกจะคอดเข้าหากันเป็นก้านแคบ ๆ ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร กลางดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง เกสรเพศผู้มี 10 อัน มีขนาดไม่เท่ากัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกมี 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร กลุ่มที่ 2 จะมี 4 อัน ก้านชูอับเรณูยาวเพียงครึ่งหนึ่งของกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่ 3 มี 3 อัน อับเรณูมีขนาดเล็กมาก ก้านชูอับเรณูยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีรังไข่เรียวโค้งยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมบาง ๆ รังไข่ติดอยู่บนก้านส่ง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร

ผลกัลปพฤกษ์  ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอกยาวแคบ สีน้ำตาล แขวนลงมาจากกิ่ง ฝักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ฝักมีขนนุ่มสีเทาปกคลุมตลอด ภายในฝักแบ่งออกเป็นช่อง ๆ ตามขวาง เนื้อในฝักเป็นสีขาวปนเขียว มีเมล็ดประมาณ 30-40 เมล็ด ผลจะออกในช่วงเดียวกับการผลิดอก คือช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระยะเดียวกับการทิ้งใบทั้งหมดในช่วงต้นฤดูร้อน โดยช่อดอกจะออกแน่นเป็นกลุ่มติดอยู่ได้นานหลายวัน โดยจะทยอยบานประมาณ 3-4 สัปดาห์ และจะแก่ประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

เมล็ดกัลปพฤกษ์  เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม รูปไข่ รูปรี ถึงรูปขอบขนาน มีสีน้ำตาลเป็นมัน มีขนาดกว้างประมาณ 6-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.8-1.1 เซนติเมตร

สรรพคุณของกัลปพฤกษ์ :  เปลือกฝักและเมล็ดมีรสขมเอียน ใช้เป็นยาลด ถ่ายพิษไข้ได้ดี (เปลือกฝัก, เมล็ด)

                                             เนื้อในฝักใช้แก้คูถ แก้เสมหะ (เนื้อในฝัก)

                                             ช่วยทำให้อาเจียน (เปลือกฝัก, เมล็ด)

                                                   เนื้อในฝักมีรสหวานเอียนขม ใช้ปรุงเป็นยาระบายอ่อน ๆ ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรดึกได้     โดยไม่ไซ้ท้อง ช่วยระบายท้องเด็กได้ดีมาก โดยให้ใช้ในขนาด 8 กรัม เหมาะสำหรับใช้ในเด็กเพราะไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนยาระบายที่แรงกว่า (เนื้อในฝัก)



 ดาวน์โหลดไฟล์เอกสารแนบ : 
 ข้อมูลทะเบียนพรรณไม้ : เผยแพร่โดย : เจ้าหน้าที่ View : 499